เมนู

เพราะอรรถว่า แทงทะลุความมืด. ชื่อว่า วิชชา เพราะอรรถว่า ทำให้
รู้แจ้งก็ได้. ก็บุพเพนิวาสานุสสติญาณซึ่งเกิดขึ้นอยู่ ชื่อว่า วิชชา เพราะ
อรรถว่า ทำลายความมืด ซึ่งตั้งปกปิดขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อน และ
กระทำขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ให้รู้แจ้ง. จุตูปปาตญาณ ชื่อว่า
วิชชา เพราะอรรถว่า ทำลายความมืดที่ปกปิดจุติ และกระทำจุติ และปฏิ-
สนธินั้นให้รู้แจ้ง. ญาณ ความรู้ในความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ชื่อว่า วิชชา
เพราะอรรถว่า ทำลายความมืดที่ปกปิดสัจจะ 4 และกระทำสัจจะธรรมทั้ง 4
ให้รู้แจ้ง พึงทราบวินิจฉัยในวิหารธรรมต่อไป. สมาบัติ 8 ชื่อว่า ทิพย-
วิหารธรรม. อัปปมัญญา 4 ชื่อว่า พรหมวิหารธรรม ผลสมาบัติชื่อว่า
อริยวิหารธรรม. ปาฏิหาริย์ทั้งหลาย ทรงให้พิสดารแล้วในเกวัฏฏสูตร.
ในคำว่า อิเม โข อาวุโส ดังนี้เป็นต้น พึงประกอบโดยนัยดังกล่าวเเล้ว
นั่นแล. พระเถระเมื่อกล่าวปัญหา 180 ข้อ ด้วยอำนาจ ติกะ 60 ถ้วน
จึงได้แสดงสามัคคีรสไว้ ด้วยประการฉะนั้นแล.
จบหมวด 3

ว่าด้วยธรรมหมวด 4



พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรสด้วยอำนาจหมวด 3 ด้วยประการ
ดังนี้แล้ว บัดนี้หวังจะแสดงด้วยอำนาจหมวด 4 จึงเริ่มเทศนาอีก. บรรดา
หมวด 4 เหล่านั้น หมวด 4 ว่าด้วยสติปัฏฐาน ท่านให้พิสดารแล้วใน
เบื้องต้นนั่นเอง. พึงทราบอธิบายในหมวด 4 ว่า ด้วยสัมมัปปธาน. ข้อว่า
ฉนฺทํ ชเนติ ความว่า ให้เกิดกัตตุกัมยตาฉันทะ ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
ความพอใจ ความเป็นผู้มีความพอใจ ความเป็นผู้ใคร่จะทำอันใด นั้นจัด
เป็นกุศล คือความเป็นผู้มีความพอใจในธรรม. ข้อว่า วายมติ ความว่า

ทำความพยายาม. ข้อว่า วิริยํ อารภติ ความว่า ทำความเพียรให้เกิดขึ้น.
ข้อว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหติ ความว่า ค้ำชูจิตไว้. นี้เป็นความย่อในที่นี้.
ส่วนความพิสดาร มาแล้ว ในสัมมัปปธานวิภังค์นั่นเอง. ในอิทธิบาท
ทั้งหลาย พึงทราบอธิบาย ดังต่อไปนี้ . สมาธิที่อาศัยฉันทะเป็นไป ชื่อว่า
ฉันทสมาธิ. สังขารทั้งหลายที่เป็นประธาน ชื่อว่า ปธานสังขาร. ข้อว่า
สมนฺนาคตํ ความว่า เข้าถึงแล้วด้วยธรรมเหล่านี้ . บาทแห่งฤทธิ์ หรือ
ทางอันเป็นเครื่องถึงซึ่งเป็นความสำเร็จ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อิทธิบาท.
แม้ในอิทธิบาทข้อที่เหลือ ก็นัยนั้นเหมือนกัน. นี้เป็นความย่อในที่นี้ . ส่วน
ความพิสดาร มาแล้วในอิทธิบาทวิภังค์นั้นแล. ส่วนเนื้อความของอิทธิบาท
นั้นท่านแสดงไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. กถาว่าด้วยฌานท่านให้พิสดารไว้แล้ว
ในวิสุทธิมรรคเหมือนกัน.
ข้อว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาราย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การอยู่
สบายในอัตภาพนี้นั่นเทียว. ผลสมาบัติและฌาน และฌานที่พระขีณาสพ
ให้เกิดขึ้นแล้ว ในเวลาต่อมา ท่านกล่าวไว้ในที่นี้. ข้อว่า อาโลกสญฺญํ
มนสิกโรติ
ความว่า ทำไว้ในใจถึงแสงสว่าง มีแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์ และแก้วมณี เป็นต้น ทั้งกลางวันหรือกลางคืนว่า อาโลโก ดังนี้.
ข้อว่า ทิวาสญฺญํ อธิฏฺฐาติ ความว่า ครั้นมนสิการอย่างนี้แล้ว ก็ตั้งสัญญา
ไว้ว่า กลางวัน ดังนี้. ข้อว่า ยถา ทิวา คถา รตฺตึ ความว่า เห็นแสงสว่าง
ในกลางวันฉันใด ในกลางคืนก็มนสิการไปเหมือนฉันนั้น. ข้อว่า ยถา
รตฺตึ ตถา ทิวา
ความว่า เห็นแสงสว่างในกลางคืนฉันใด ในกลางวัน
ก็มนสิการไปฉันนั้นเหมือนกัน. ข้อว่า อิติ วิวเฏน เจตสา ความว่า

มีจิตที่เปิดแล้วอย่างนี้. ข้อว่า อปริโยนทฺเธน ความว่า ไม่ถูกผูกมัดไว้
โดยรอบ. ข้อว่า สปฺปภาสํ ความว่า เป็นไปกับแสงสว่าง. ข้อว่า
ญาณทสฺสนปฏิลาภาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่การได้ญาณทัสสนะ.
ท่านกล่าวอะไรไว้ด้วยคำนี้. ท่านกล่าวถึงแสงสว่างที่เป็นเครื่องบรรเทา
ถีนมิทธะ หรือแสงสว่างในการบริกรรม. แม้ด้วยคำนี้เป็นอันท่านกล่าวถึง
อะไร. เป็นอันท่านกล่าวถึงทิพยจักษุญาณ ของพระขีณาสพ. อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อทิพยจักษุญาณนั้น มาแล้วก็ตาม ยังไม่มาก็ตาม ท่านหมายถึงสมาบัติ
ที่มีฌานเป็นบาทนั้นแหละ จึงกล่าวคำว่า ยังจิตที่มีแสงว่างให้เกิดมีขึ้น.
ข้อว่า สติสมฺปชญฺญาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่สติสัมปชัญญะ อันมี
สัตว์เป็นที่ตั้ง. ในข้อว่า วิทิตา เวทนา อุปฺปชฺชนฺติ เป็นต้นความว่า
วัตถุเป็นอันพระขีณาสพรู้แล้ว อารมณ์ก็เป็นอันรู้แล้ว เวทนาทั้งหลาย
ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ย่อมตั้งอยู่อย่างนี้ ย่อมดับไปอย่างนี้ เพราะรู้ทั้งวัตถุ
และอารมณ์. ไม่เฉพาะเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวไว้ในที่นี้ แม้
สัญญาเป็นต้นก็เป็นอันรู้ชัดแล้ว ย่อมเกิดขึ้น ย่อมตั้งอยู่ และย่อมดับไป.
อีกอย่างหนึ่ง ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาก็เป็นอันท่านรู้แล้ว ความตั้งอยู่ก็
เป็นอันท่านรู้แล้ว. ภิกษุแม้เมือเห็นลักษณะแห่งความเกิดขึ้นว่า เพราะ
อวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด เพราะตัณหาเกิด เพราะกรรมเกิด เพราะผัสสะ
เกิด จึงเกิดเวทนา ชื่อว่าย่อมเห็นความเกิดของเวทนาขันธ์. ความเกิดขึ้น
แห่งเวทนา ย่อมเป็นอันท่านทราบแล้วอย่างนี้. ท่านทราบถึงความตั้งอยู่
แห่งเวทนาอย่างไร. เมื่อท่านมนสิการอยู่โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ย่อม
เป็นอันทราบถึงความตั้งอยู่โดยความเป็นของสิ้นไป. เมื่อมนสิการอยู่โดย
ความเป็นทุกข์ ย่อมเป็นอันทราบถึงความตั้งอยู่โดยความเป็นของน่ากลัว.

เมื่อมนสิการอยู่ โดยความเป็นอนัตตา ก็ย่อมทราบถึงความตั้งอยู่โดยความ
เป็นของว่างเปล่า. ความตั้งอยู่แห่งเวทนาเป็นอันท่านทราบแล้วอย่างนี้.
ท่านย่อมรู้โดยความเป็นของสิ้นไป โดยความเป็นของน่ากลัว โดยความ
เป็นของว่างเปล่า. ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา เป็นอันท่านทราบแล้ว
อย่างไร. ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา ย่อมมีได้อย่างนี้ว่า เพราะอวิชชา
ดับ เวทนาจึงดับ ฯลฯ ดังนี้ . ในข้อนี้บัณฑิตพึงทราบเนื้อความตามนัย
แม้นี้. คำว่า รปํ เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.
ข้อว่า อยํ อาวุโส สมาธิภาวนา ความว่า สมาธิภาวนาซึ่งฌานเป็น
บาทนี้ ย่อมมีแก่ญาณเป็นเครื่องรู้ถึงความสิ้นอาสวะ. ข้อว่า อปฺปมญฺญา
ความว่า อัปปมัญญา ด้วยอำนาจการไม่ถือเอาประมาณแผ่ไปหมดทั้งสิ้น.
ทัสสนภาวนา และวิธีแห่งสมาธิ ซึ่งมีการพรรณนาไปตามลำดับบทแห่ง
อัปปมัญญาเหล่านั้น ท่านให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล. แม้กถา
ว่าด้วย อรูป ( ฌาน ) ท่านก็ให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ.
ข้อว่า อปสฺเสนานิ ความว่า ที่สำหรับอิง. ข้อว่า สํขาย ความว่า
ด้วยญาณ ฯ ข้อว่า ปฏิเสวติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมเสพ
เฉพาะของที่ควรเสพได้เท่านั้น. ก็ความพิสดารแห่งการเสพนั้น พึงทราบ
โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย แล้ว จึงเสพจีวร. ข้อว่า สํขา-
เยกํ อธิวาเสติ
ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมอดกลั้นอารมณ์ที่ควร
จะอดกลั้นได้นั้นแล. ก็ในข้อนี้ พึงทราบความพิสดารโดยนัย เป็นต้นว่า
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความหนาวได้. ข้อว่า
ปริวชฺเชติ ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมเว้นสิ่งที่ควร เพื่อละเว้น

นั่นแล. ความพิสดารแห่งการเว้นนั้น พึงทราบโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุ
พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงช้างดุเสีย. ข้อว่า วิโนเทติ
ความว่า ภิกษุรู้ด้วยญาณแล้ว ย่อมบรรเทาสิ่งควรบรรเทานั้นแล คือ ไล่ออก
นำออกไม่ให้อยู่ในภายใน. ความพิสดารแห่งการบรรเทานั้น พึงทราบ
โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนี้ .
ข้อว่า อริยวํส ความว่า วงศ์ของพระอริยะ. เหมือนอย่างว่า
วงศ์กษัตริย์ วงศ์พราหมณ์ วงศ์แพทย์ วงศ์ศูทร วงศ์สมณะ วงศ์พระราชา
ฉันใด วงศ์พระอริยะ แบบแผนพระอริยะ ที่ 8 แม้น ก็ชื่อว่าประเพณีของ
พระอริยะฉันนั้น. ก็อริยวงศ์นี้นั้นแล ท่านกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าวงศ์เหล่านี้
ดุจกลิ่นมีกลิ่นกะลัมพักเป็นต้น เป็นยอดกว่ากลิ่นที่เกิดจากรากเป็นต้น
ฉะนั้น. ก็วงศ์เหล่านี้มีอยู่แก่พระอริยะเหล่าใด พระอริยะเหล่านั้นได้แก่คน
จำพวกไหน. ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของ
พระพุทธเจ้า ที่ท่านเรียกว่า พระอริยะ. วงศ์ของพระอริยเหล่านี้ เพราะ
เหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยวงศ์. จริงอยู่ในกาลก่อนแต่นี้ มีพระพุทธเจ้า 4 องค์
คือ พระพุทธเจ้าตัณหังกร พระพุทธเจ้าเมธังกร พระพุทธเจ้าสรณังกร
พระพุทธเจ้าทีปังกร ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ในที่สุด สี่อสงไขยกับแสนกัปป์
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นชื่อว่าพระอริยวงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น เพราะเหตุ
นั้นจึงชื่อว่า อริยวงศ์.ในกาลต่อมาแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเหล่า
ล่วงไปหนึ่งอสงไขย พระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ทรงอุบัติขึ้น
แล้ว ฯ ล ฯ ในกัปป์นี้ มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น 4 องค์คือ พระกกุสันธะ
พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราพระนามว่า
โคดมวงศ์ของพระอริยะเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อริยวงศ์. อีกอย่าง

หนึ่ง วงศ์ของพระอริยะ คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวก
ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่า อริยวงศ์. ก็อริยวงศ์เหล่านี้นั้นแล พึงทราบว่าเป็นวงศ์ชั้นยอด
เพราะรู้กันว่า เป็นวงศ์อันล้ำเลิศ พึงทราบว่า เป็นไปตลอดกาลนาน
เพราะรู้จักกันมานาน พึงทราบว่าเป็นวงศ์ เพราะรู้ว่าเป็นวงศ์. ข้อว่า
เป็นวงศ์เก่า ความว่า มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้. ข้อว่า ไม่กระจัดกระจาย
ความว่าไม่เกลื่อนกล่น คือ ไม่ถูกนำออกไป. ข้อว่า อสงฺกิณฺณปุพฺพา
ความว่า เป็นวงศ์ไม่เคยถูกนำออกไป เพราะอรรถว่า เป็นวงศ์ไม่เคย
เกลื่อนกล่นแม้กับอดีตพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกลื่อนกล่นกับพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายเหล่านี้ได้อย่างไร. ข้อว่า น สํกิยนฺติ ความว่า ถึงในบัดนี้ ก็มิได้
ถูกนำออกไป. ข้อว่า น สํกิยิสฺสนฺติ ความว่า แม้อันพระพุทธเจ้าใน
อนาคตทั้งหลาย ก็จักไม่นำออกไป. สมณะและพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูเหล่า
ใดในโลก ก็ไม่ถูกสมณะและพราหมณ์ ผู้เป็นวิญญูชนเหล่านั้น สาปแช่ง
นินทา ติเตียน.
ข้อว่า สนฺตุฏฺโฐ โหติ ความว่า เป็นผู้สันโดษด้วยอำนาจความ
สันโดษในปัจจัย. ข้อว่า อิตรีตเรน จีวเรน ความว่า ( เป็นผู้สันโดษ)
ด้วยบรรดาจีวรที่เนื้อหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต มั่นคง เก่า
ชนิดใดชนิดหนึ่งหามิได้ โดยที่แท้ เป็นผู้สันโดษด้วยบรรดาจีวรตามที่ได้
เป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่งตามแต่จะได้. ก็ในจีวรมีสันโดษ 3 คือ สันโดษ
ตามได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษตามสมควร. แม้ในบิณฑบาตเป็นต้น ก็
นัยนั้นเสมอนกัน. กถาโดยพิสดารแห่งสันโดษเหล่านั้น พึงทราบตามนัย
ที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตรนั่นแล. คำว่า เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามที่ได้

เป็นต้น ชนิดใดชนิดหนึ่ง ท่านกล่าวหมายเอาสันโดษ 3 เหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้. ก็ในข้อนี้พึงทราบจีวร พึงทราบเขตแห่งจีวร พึงทราบ
บังสุกุลจีวร พึงทราบความสันโดษในจีวร พึงทราบธุดงค์ที่เกี่ยวเนื่องกับ
จีวร.
ข้อว่า จีวรํ ชานิตพฺพํ ความว่า พึงทราบ จีวร 6 ชนิด มีผ้า
เปลือกไม้ เป็นต้น อนุโลมจีวร 6 ชนิดมีผ้าทุกูลเป็นต้น จีวร 12 ชนิด
เหล่านี้ ชื่อว่า กัปปิยจีวร. ส่วนจีวรมีอาทิอย่างนี้ว่า ผ้าคากรอง ผ้า
เปลือกปอ ผ้าทอเป็นแผ่น ผ้ากัมพลทอด้วยผมมนุษย์ ผ้ากัมพลทอด้วย
ขนหางสัตว์ หนังเสือ หนังสัตว์ ปีกนกเค้า ผ้าที่พันด้วยต้นไม้ ผ้าที่ใช้
เถาวัลย์ถัก ผ้าที่ทำด้วยตระไคร้น้ำ ผ้าที่ถักด้วยปอกล้วย ผ้าที่สานด้วย
ดอกไม้ไผ่ ชื่อว่า อกัปปิยจีวร ( จีวรที่ไม่สมควรจะใช้ ).
ข้อว่า จีวรกฺเขตฺตํ ความว่า ชื่อว่า เขตมี 6 อย่าง เพราะเกิด
ขึ้นอย่างนี้ว่า จากสงฆ์ จากคณะ จากญาติ จากมิตร จากทรัพย์ของตน
หรือเป็นผ้าบังสุกุล. ส่วนเขต 8 พึงทราบด้วยอำนาจมาติกา 8.
ข้อว่า ปํสุกูลํ ความว่า พึงทราบผ้าบังสุกุล 23 ชนิดคือ
1. ผ้าโสสานิกะ ( ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า )
2. ผ้าปาปณิกะ ( ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามทางเข้าตลาด )
3. ผ้ารถิกะ ( ผ้าที่เขาทิ้งอยู่ตามตรอก )
4. ผู้สังการโจฬกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในกองหยากเยื่อ )
5. ผ้าโสตถิยะ ( ผ้าที่เขาใช้เช็ดครรภ์มลทินแล้วทิ้ง )
6. ผ้าสินานะ ( ผ้าที่เขาผลัดอาบน้ำมนต์แล้วทิ้ง )

7. ผ้าติตถะ (ผ้าที่ทิ้งอยู่ตามท่าน้ำ)
8. ผ้าคตปัจจาคตะ (ผ้าที่ใช้ห่มศพไปป่าช้า แล้วนำกลับมาทิ้งไว้)
9. ผ้าอัคคิทัฑฒะ (ผ้าถูกไฟไหม้แล้วทิ้งไว้)
10. ผ้าโคขายิตะ (ผ้าที่โคเคี้ยวแล้วเขาทิ้งไว้)
11. ผ้าอุปจิกขายิตะ (ผ้าปลวกกัดแล้วเขาทิ้งไว้)
12. ผ้าอุนธูรขายิตะ (ผ้าหนูกัดแล้วเขาทิ้งไว้)
13. ผ้าอันตัจฉินนะ (ผ้าขาดริมแล้วเขาทิ้งไว้ )
14. ผ้าทสัจฉินนะ (ผ้าขาดชายแล้วเขาทิ้งไว้ )
15. ผ้าธชาหฏะ (ผ้าที่เขาชักเป็นธงแล้วทิ้งไว้ )
16. ผ้าถูปะ (ผ้าที่เขาบูชาจอมปลวกทิ้งไว้)
17. ผ้าสมณจีวร (ผ้าของภิกษุด้วยกัน)
18. ผ้าสามุททิยะ (ผ้าที่คลื่นทะเลซัดขึ้นฝั่ง)
19. ผ้าอภิเสกิกะ (ผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ราชาภิเษก)
20. ผ้าปันถิกะ (ผ้าที่ตกอยู่ตามหนทาง ไม่ปรากฏเจ้าของ)
21. ผ้าวาตาหฏะ (ผ้าที่ลมหอบเอาไปไม่มีเจ้าของติดตาม)
22. ผ้าอิทธิมยะ (ผ้าสำหรับเอหิภิกษุ)
23. ผ้าเทวทัตติยะ (ผ้าที่เทวดาถวาย)

ก็บรรดาผ้าเหล่านี้ ผ้าที่ชื่อว่า โสตถิยะ ได้แก่ผ้าสำหรับเช็ด
ครรภ์มลทิน ผ้าที่ชื่อว่า คตปัจจาคตะ ได้แก่ ผ้าที่เขาห่มศพนำไปป่าช้า
แล้วนำกลับมา ผ้าที่ชื่อว่า ธชาหฏะ ได้แก่ ผ้าที่เขาชักเป็นธง แล้ว
ภิกษุนำมาจากที่นั้น ผ้าที่ชื่อว่า ถูปะ ได้แก่ ผ้าที่เขาบูชาจอมปลวก

ผ้าที่ชื่อว่า สามุททิยะ ได้แก่ ผ้าที่ถูกคลื่นทะเลชัดขึ้นบก. ผ้าที่ชื่อว่า
ปันถิกะ ได้แก่ ผ้าที่คนเดินทางใช้แผ่นหินทุบแล้วห่ม เพราะกลัวโจร.
ผ้าที่ชื่อว่า อิทธิมยะ ได้แก่ ผ้าของเอหิภิกขุ. ผ้าที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
ข้อว่า จีวรสนฺโตโส ได้แก่ ความสันโดษในจีวร 20. ก็ในจีวร
สันโดษ 20 คือ สันโดษในการตรึก สันโดษในการไป สันโดษใน
การแสวงหา สันโดษในการได้ สันโดษในการรับแต่พอประมาณ สันโดษ
ในการเว้นจากความอยากได้ สันโดษตามแต่ได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษ
ตามความสมควร สันโดษในน้ำ (ซัก ) สันโดษในการซัก สันโดษใน
การทำ สันโดษในปริมาณ สันโดษในด้าย สันโดษในการเย็บ สันโดษ
ในการย้อม สันโดษในการทำกัปปะ สันโดษในการใช้สอย สันโดษใน
การเว้นจากการสะสม สันโดษในการสละ. บรรดาสันโดษเหล่านั้น ภิกษุ
ผู้ยินดีอยู่จำพรรษาประจำครบไตรมาส จะตรึกเพียงเดือนเดียว ก็ควร.
ก็ภิกษุนั้นปวารณาแล้ว ย่อมทำจีวรในเดือนที่ทำจีวร. ภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุล
ย่อมทำโดยครึ่งเดือนเท่านั้น. การตรึกเพียงหนึ่งเดือนหรือครึ่งเดือน ชื่อว่า
สันโดษในการตรึก ด้วยประการฉะนี้. ก็ภิกษุผู้สันโดษด้วยการสันโดษ
ในการตรึก พึงเป็นผู้เช่นกับพระบังสุกูลเถระ ผู้จำพรรษาอยู่ในปาจีน-
ขัณฑราชีวิหารเถิด.
มีเรื่องเล่ามาว่า พระเถระมาด้วยความหวังว่า จักไหว้พระเจดีย์
ในเจติยบรรพตวิหาร ครั้นไหว้พระเจดีย์แล้ว ก็คิดว่า จีวรของเราเก่าแล้ว
เราจักได้ในที่อยู่ของภิกษุมาก. ท่านจึงไปยังมหาวิหาร พบพระสังฆเถระ
แล้วถามถึงที่อยู่ แล้วก็อยู่ในที่นั้น วันรุ่งขึ้น จึงถือเอาจีวรมาไหว้พระ

เถระ. พระเถระถามว่า อะไรคุณ. ก็ตอบว่า ท่านขอรับ ผมจักไป
ประตูบ้าน. พระเถระจึงกล่าวว่า คุณ แม้ผมจักไป จึงกล่าวว่า ดีแล้ว
ขอรับ พลางไปยืนที่ซุ้มประตูด้านต้นมหาโพธิ์ คิดว่า เราจักได้จีวรที่น่า
พอใจ ในที่อยู่ของตนผู้มีบุญ แล้วจึงกลับคิดได้ว่า การตรึกของเราไม่
บริสุทธิ์ กลับจากที่นั้นทันที รุ่งขึ้นจึงไปยังที่ใกล้เนินมะม่วง รุ่งขึ้นก็
กลับจากตระตูด้านทิศเหนือของมหาเจดีย์เหมือนอย่างนั้น แม้ในวันที่
ก็ได้ไปยังสำนักของพระเถระ. พระเถระรู้ว่า ภิกษุนี้จักมีความตรึกไม่
บริสุทธิ์ จึงถือเอาจีวร ถามปัญหาพลางเข้าบ้านไปกับเธอทีเดียว. ก็ใน
คืนนั้น มนุษย์คนหนึ่ง ถูกอุจจาระเบียดเบียนเอา จึงถ่ายอุจจาระลงในผ้า
สาฎกนั้นทิ้งผ้าสาฎกนั้นไว้ในกองขยะ. พระบังสุกูลิกเถระเห็นผ้าสาฎกนั้น
มีแมลงวันหัวเขียวรุมตอมอยู่ จึงประคองอัญชลี. พระมหาเถระจึงถามว่า
ทำไมคุณจึงได้ประคองอัญชลีต่อกองอยากเยื่อเล่า. ก็ตอบว่า ท่านขอรับ
ผมมิได้ประคองอัญชลีต่อกองหยากเยื่อดอก ผมประคองอัญชลีต่อพระ
ทศพลพระบิดาของผมต่างหาก ท่านขอรับ การที่ภิกษุถือเอาผ้าบังสุกุลที่
เขาห่มซากของนางปุณณทาสีแล้วทิ้งไว้ ไล่ตัวสัตว์เล็ก ๆ ประมาณทะนาน
หนึ่งออกมาจากป่าช้า ทำได้ยาก. พระมหาเถระ คิดว่า การตรึกของ
ภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลหมดจดแล้ว. แม้พระเถระผู้ทรงผ้าบังสุกุลยืนอยู่ในที่
นั้นนั่นเอง เจริญวิปัสสนาบรรลุผล 3 ถือเอาผ้าสาฎกผืนนั้นทำเป็นจีวรห่ม
ไปยังปาจีนขัณฑราชีวิหาร บรรลุพระอรหัตซึ่งเป็นผลชั้นเลิศ. ก็การที่
ภิกษุเมื่อไปเพื่อต้องการจีวร ไม่ต้องคิดว่า จักได้ที่ไหน แล้วไปโดยมุ่ง
กรรมฐานเป็นใหญ่ ทีเดียว ชื่อว่า สันโดษในการไป. ก็การที่ภิกษุเมื่อ
แสวงหา อย่าแสวงหากับใครส่ง ๆ ไป พาเอาภิกษุผู้เป็นลัชชีมีศีลเป็นที่รัก

ไปแสวงหา ชื่อว่า สันโดษในการแสวงหา. การที่ภิกษุเมื่อแสวงหาไป
อย่างนี้ เห็นคนนำจีวรมาแต่ไกล อย่าตรึกอย่างนี้ว่า จีวรนั่นจักเป็นของ
น่าพอใจ จีวรนั่นไม่เป็นของน่าพอใจ ดังนี้แล้ว ยินดีด้วยบรรดาจีวร
เนื้อหยาบหรือเนื้อละเอียด เป็นต้นตามแต่จะได้ ชื่อว่าสันโดษในการได้.
การที่ภิกษุแม้รับเอาจีวรที่ได้แล้วอย่างนี้ ยินดีโดยประมาณที่เพียงพอแก่ตน
เท่านั้นว่า ผ้าเท่านี้จักมีเพื่อจีวร 2 ชั้น ผ้าเท่านี้จักมีเพื่อจีวรชั้นเดียว
ชื่อว่า สันโดษในการรับแต่พอประมาณ. ก็การที่ภิกษุเมื่อแสวงหาจีวร
ไม่ต้องคิดว่า เราจักได้จีวรที่น่าพอใจที่ประตูเรือนของคนโน้น ดังนี้แล้ว
เที่ยวไปตามลำดับประตู ชื่อว่า สันโดษในการเว้นจากความอยากได้. การที่
ภิกษุเมื่อสามารถจะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยบรรดาจีวรที่เศร้าหมองหรือ
ประณีตอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรตามที่ได้นั่นแหละ
ชื่อว่า สันโดษตามได้. การที่ภิกษุรู้ถึงกำลังของตนแล้ว สามารถจะยัง
อัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรชนิดใด ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรนั้น ชื่อว่า
สันโดษตามกำลัง. การที่ภิกษุให้จีวรที่น่าชอบใจแก่ภิกษุอื่น ตนเองยัง
อัตตภาพให้เป็นไปด้วยจีวรอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สันโดษตามความ
เหมาะสม. ภิกษุภิกษุไม่เลือกว่า นำที่ไหนน่าพอใจ ที่ไหนไม่น่าพอใจ
ดังนี้แล้ว ซักด้วยน้ำที่พอจะชักได้บางอย่าง ชื่อว่า สันโดษในน้ำ. ก็การที่
ภิกษุจะเว้นน้ำที่ขุ่นไปด้วยดินสีเหลือง ดินสอพอง และในหญ้าเน่าเสีย
ก็ควร. ก็การที่ภิกษุเมื่อซักไม่ใช้ไม่ค้อนเป็นต้นทุบ ใช้มือขยำซัก ชื่อว่า
สันโดษในการซัก. การที่ภิกษุใส่ใบไม้ลงไปแล้วซักจีวรที่ไม่สะอาดอย่างนั้น
แม้ด้วยน้ำร้อนก็ควร. การที่ภิกษุเมื่อซักทำไปอย่างนี้ ไม่ให้ใจกำเริบว่า
ผ้าผืนนี้เนื้อหยาบ ผ้าผืนนี้เนื้อละเอียด ทำไปโดยทำนองที่เพียงพอนั่น

แหละ ชื่อว่า สันโดษในการกระทำ. ๆ การทำจีวรที่เพียงพอจะปิดมณฑล 3
ได้นั่นแหละ ชื่อว่า สันโดษในปริมาณ. ก็เพื่อจะทำจีวร การที่ภิกษุไม่
กะเกณฑ์ลงไปว่า เราจักแสวงหาด้ายที่ถูกใจดังนี้ แล้วนำด้ายในสถานที่
มีตรอกเป็นต้น หรือในเทวสถานมา หรือถือเอาด้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง
นั่นแหละที่เขาวางไว้ใกล้เท้ามากระทำ ชื่อว่า สันโดษในเส้นด้าย. ก็ใน
เวลาเย็บกุสิพึงสอยได้ 7 ครั้ง ห่างกันประมาณ 1 องคุลี. ก็เมื่อภิกษุ
ทำอย่างนี้ ภิกษุรูปใดไม่มีสหาย แม้วัตตเภทก็ไม่มีแก่ภิกษุนั้น. แต่พึงสอย
7 ครั้ง ประมาณ 3 องคุลี. ภิกษุผู้กระทำอย่างนี้ พึงมีสหายผู้เดินทาง
ด้วยกันเถิด. ภิกษุใดไม่มีสหาย เป็นวัตตเภทแก่ภิกษุนั้น. นี้ชื่อว่า ความ
สันโดษในการเย็บ. ก็ภิกษุเมื่อย้อมไม่พึงเที่ยวแสวงหาไทรดำเป็นต้น
ได้สิ่งใด บรรดาเปลือกไม้สีดำ เป็นต้น พึงย้อมด้วยเปลือกไม้นั้น . เมื่อ
ไม่ได้ พึงถือเอาน้ำย้อมที่พวกมนุษย์ ถือเอาปอในป่าแล้วทิ้งไว้ หรือกาก
ที่พวกภิกษุต้มแล้วทิ้งไว้ ย้อมเถิด. นี้ชื่อว่าความสันโดษในการย้อม. การที่
ภิกษุถือเอาบรรดาสีเขียว เปลือกตม สีดำ และสีความอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทำกัปปะขนาดเท่าคนนั่งบนหลังข้างมองเห็น ชื่อว่า สันโดษในการทำ
กัปปะ. การใช้สอยเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะ ที่จะทำให้ความอายกำเริบ
ชื่อว่า สันโดษในการบริโภค. ก็ภิกษุได้ท่อนผ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้ด้าย เข็ม
หรือ ผู้ (ช่วย) ทำ จะเก็บไว้ก็ควร. เมื่อได้แล้วจะเก็บไว้ไม่ควร. ถ้าประสงค์
จะให้จีวรที่ทำเสร็จแล้ว แก่พวกอันเตวาสิกเป็นต้น แต่พวกอันเตวาสิกนั้น
ไม่อยู่ ควรจะเก็บไว้จนกว่าพวกเขาจะมา พอเมื่อพวกอันเตวาสิกมาถึง
พึงให้เถิด เมื่อไม่สามารถจะให้ได้ ก็พึงอธิษฐานไว้ เมื่อมีจีวรอื่น จะ

อธิษฐานเป็นผ้าปูพื้นก็ควร ก็จีวรที่ไม่ได้อธิษฐานเท่านั้น จึงเป็นสันนิธิ
จีวรที่อธิษฐานแล้วหาเป็นสันนิธิไม่ พระมหาสิวเถระกล่าวไว้ดังนี้. นี้ชื่อว่า
สันโดษในการเว้นจากการสะสม. ภิกษุเมื่อสละ ไม่พึงให้โดยเห็นแก่หน้า.
พึงตั้งอยู่ในสาราณียธรรมแล้ว สละเถิด. นี้ชื่อว่าสันโดษในการสละ.
ปังสุกูลิกังคธุดงค์ และเตจีวริกังคธุดงค์ ชื่อว่า ธุดงค์ที่เกี่ยว
เนื่องด้วยจีวร. กถาอย่างพิสดารของธุดงค์ทั้ง 2 นั้น พึงทราบจากคัมภีร์
วิสุทธิมรรค. ภิกษุผู้บำเพ็ญมหาอริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษด้วยจีวร ย่อม
รักษาธุดงค์ 2 ข้อนี้ไว้ได้ ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุเมื่อรักษาธุดงค์
2 ข้อนี้ได้ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสันโดษด้วยตามมหาอริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษ
ด้วยจีวร.
บทว่า วณฺณวาที พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้. ภิกษุรูปหนึ่งเป็น
ผู้สันโดษ จริง ๆ แต่หากล่าวพรรณนาถึงความสันโดษไม่. อีกรูปหนึ่ง ไม่
เป็นผู้สันโดษ แต่กลับกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. อีกรูปหนึ่งทั้งไม่
สันโดษ ทั้งไม่กล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. อีกรูปหนึ่งทั้งเป็นผู้สันโดษ
ทั้งกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษ. เพื่อแสดงเหตุผลข้อนั้น ท่านจึงกล่าว
คำว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวพรรณนาถึงความสันโดษในจีวรตามมีตามได้. บทว่า
อเนสนํ ความว่า การแสวงหาอันไม่สมควร อันต่างด้วยการส่งข่าวสาส์น
การเดินทาง และการตามประกอบในกรรมทั้ง 2 นั้น ซึ่งเป็นการงานของ
ทูต. บทว่า อปฺปฏิรูปํ ความว่า ไม่ควร. บทว่า อลทธา จ แปลว่า
ไม่ได้. ภิกษุผู้สันโดษ ถึงไม่ได้จีวร ก็หาเดือดร้อนเหมือนภิกษุบางรูปคิดว่า
เราจักได้จีวรอย่างไรหนอแล้วเข้าพวกกับภิกษุผู้มีบุญ ทำการหลอกลวง

ย่อมสะดุ้ง ย่อมเดือดร้อนฉันนั้นไม่. บทว่า ลทฺธา จ ความว่า ได้โดยชอบ
ธรรม. บทว่า อคธิโต ความว่า ผู้ไม่ถูกความโลภผูกมัดไว้. บทว่า
อมุจฺฉิโต ความว่า ไม่ถึงความสยบ เพราะความอยากจัด. บทว่า
อนชฺฌาปนฺโน ความว่า ไม่ถูกตัณหาท่วมทับ คือ มัดไว้. บทว่า
อาทีนวทสฺสาวี ความว่า เห็นโทษในอาบัติที่ต้องเพราะการแสวงหาอัน
ไม่สมควร และในการบริโภคลาภ ที่ถูกความอยากผูกมัดไว้ บทว่า นิสฺ-
สรณปญฺโญ ความว่าผู้รู้ถึงการสลัดออกที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพียงเพื่อบำบัด
ความหนาวเป็นต้น. บทว่า อิตรีตรจีวรสนฺตุฏฺฐิยา ความว่า ด้วยการ
สันโดษด้วยจีวร อย่างใดอย่างหนึ่ง. บทว่า เนวตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า
ไม่ทำการยกตนขึ้นว่า เราเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุล เราสมาทาน ปังสุกูลิกังค-
ธุดงค์ ตั้งแต่อยู่ในโรงอุปสมบททีเดียว จะมีใครเหมือนเรา ดังนี้. สอง
บทว่า น ปรํ วมฺเภติ ความว่า ไม่ข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า ก็ภิกษุพวกอื่นนี้ หา
เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลไม่ หรือว่า ภิกษุพวกนี้หามีแม้แต่เพียงปังสุกูลิกังคธุดงค์
ไม่ดังนี้. หลายบทว่า โย หิ ตตฺถ ทกฺโข ความว่า ผู้ใดเป็นผู้ขยัน ฉลาด
เฉียบแหลม ในการสันโดษด้วยจีวรนั้น หรือในคุณมีความเป็นผู้กล่าว
พรรณนาเป็นต้น. บทว่า อนลโส ความว่า เว้นจากความเกียจคร้าน โดย
การทำติดต่อ. สองบทว่า สมฺปชาโน ปฏิสฺสโต ความว่า ประกอบด้วย
ปัญญาในการรู้ตัว และด้วยการระลึกได้. สองบทว่า อริยวํเส ฐิโต
ความว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์.
ข้อว่า อิตริตเรน ปิณฺฑปาเตน ความว่า ด้วยบิณฑบาตอย่างใด
อย่างหนึ่ง. แม้ในข้อนี้ บัณฑิตก็พึงทราบ บิณฑบาต เขตในการเที่ยว
บิณฑบาต ความสันโดษในบิณฑบาต ธุดงค์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยบิณฑบาต.

บรรดา 4 ข้อนั้น ข้อว่า บิณฑบาต 16 อย่าง คือ ข้าวสุก ขนม
กุมมาส ข้าวตู ปลา เนื้อ น้ำนม เนยส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน
น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ข้าวต้ม ของควรเคี้ยว ของควรลิ้ม ของควรเลีย (ชิม).
ข้อว่า ปิณฺฑปาตกฺเขตฺตํ ความว่า เขตแห่งการเที่ยวบิณฑบาต มี
15 คือ ภัตที่เขาถวายพระสงฆ์ ภัตที่เขาถวายเจาะจง ภัตที่ได้ในที่นิมนต์
ภัตที่เขาถวายพร้อมกับสลาก ภัตที่เขาถวายประจำปักษ์ ภัตที่เขาถวาย
ในวันอุโบสถ ภัตที่เขาถวายในวันปาฏิบท (คือวันขึ้นหรือแรมค่ำหนึ่ง)
ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้จรมา ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เตรียมจะไป ภัตที่เขา
ถวายแก่ภิกษุไข้ ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้ ภัตที่เขาถวายใน
วิหารใกล้ ภัตที่เขาถวายแก่ภิกษุผู้เฝ้ากุฏิ ภัตที่เขาถวายประจำวัน ภัตที่
เขาถวายแก่ภิกษุผู้เฝ้าวิหาร.
ข้อว่า ปิณฺฑปาตสนฺโตโส ความว่า สันโดษมี 15 คือ สันโดษ
ในการตรึกในบิณฑบาต สันโดษในการไป สันโดษในการแสวงหา สันโดษ
ในการได้เฉพาะ. สันโดษในการรับ สันโดษในการรับแต่พอประมาณ
สันโดษในการเว้นจากความอยากได้ สันโดษตามได้ สันโดษตามกำลัง
สันโดษตามสมควร สันโดษในการบำรุง สันโดษในการกำหนด สันโดษ
ในการบริโภค สันโดษในการเว้นจากการสะสม สันโดษในการสละ
บรรดาสันโดษเหล่านั้น ภิกษุผู้ยืนดีล้างหน้าแล้ว ย่อมตรึก. ก็ภิกษุผู้เที่ยว
ไปกับคณะ. ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ในเวลาอุปัฏฐากพระเถระใน
เวลาเย็น ถูกถามว่า พรุ่งนี้พวกเราจักเที่ยวบิณฑบาตที่ไหน ตอบว่า
ในบ้านชื่อโน้นขอรับ คิดเพียงเท่านี้ จากนั้นไป ก็ไม่พึงตรึก (อีก). ภิกษุผู้
เที่ยวไปรูปเดียว พึงยืนตรึกในโรงสำหรับตรึกเถิด. ภิกษุผู้ตรึกเกินกว่านั้น

ย่อมเป็นผู้เคลื่อน เหินห่างจากอริยวงศ์. ข้อที่ว่า มานี้ ชื่อว่าสันโดษใน
การตรึก. ก็ภิกษุผู้จะเข้าไปบิณฑบาต ไม่ต้อคิดว่า จักได้ที่ไหน พึงไปโดย
มีกรรมฐานเป็นใหญ่เถิด. ข้อนี้ชื่อว่า สันโดษในการไป. ภิกษุผู้แสวงหา
ไม่ต้องกำหนดว่าเป็นอะไร พึงพาเอาภิกษุผู้เป็นลัชชี มีศีลเป็นที่รักเท่านั้น
ไปแสวงหาเถิด. ข้อนี้ ชื่อว่า สันโดษในการแสวงหา. ภิกษุเห็นคนนำ
อาหารมาแต่ไกล ไม่พึงให้เกิดความคิดขึ้นว่า ของนั้นน่าพอใจ ของนั้น
ไม่น่าพอใจ ดังนี้. นี้ชื่อว่า สันโดษในการได้เฉพาะ. ภิกษุไม่พึงคิดว่า
ของนี้น่าชอบใจ เราจักรับ ของนี้ไม่น่าชอบใจ เราจะไม่รับ ดังนี้แล้ว
รับเอาแต่เพียงอาหารพอยังอัตต ภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเถิด. นี้ชื่อว่า
สันโดษในการรับ. ก็ในสันโดษข้อนี้ ไทยธรรมมีมาก แต่ทายกต้องการ
จะถวายแต่น้อยพึงรับเอาแต่น้อย แม้ไทยธรรมก็มีมาก ถึงทายกก็ต้องการ
จะถวายมาก พึงรับเอาแต่พอประมาณเท่านั้น ไทยธรรมมีไม่มาก ถึงทายก
ก็ต้องการจะถวายไม่มาก พึงรับเอาแต่น้อย ไทยธรรมมีไม่มาก แต่ทายก
ต้องการจะถวายมาก ก็พึงรับเอาแต่พอประมาณเท่านั้น. ก็ภิกษุผู้ไม่รู้จัก
ประมาณในการรับย่อมทำความเลื่อมใสของพวกมนุษย์ให้แปดเปื้อน ทำ
ศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่กระทำคำสอน ไม่สามารถจะยึดจิตแม้ของมารดาผู้
บังเกิดเกล้าได้. ภิกษุพึงรู้จักประมาณเสียก่อนแล้วจึงรับ ด้วยประการฉะนี้
แล นี้ชื่อว่า สันโดษในการรับแต่พอประมาณ. ภิกษุไม่ไปยังตระกูลที่
มั่งคั่งเท่านั้น พึงไปตามลำดับประตูเถิด. นี้ชื่อว่า สันโดษในการเว้นจาก
การอยากได้. ยถาลาภสันโดษเป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วในจีวรนั่นแหละ.
การที่ภิกษุรู้อุปการอย่างนี้ว่า เราจักฉันบิณฑบาตแล้ว รักษาสมณธรรมดังนี้
แล้วฉัน ชื่อว่า อุปการสันโดษ. ภิกษุไม่พึงรับบิณฑบาตที่เขาบรรจุเต็มบาตร
แล้วนำมา (ถวาย ) เมื่อมีอนุปสัมบัน (ลูกศิษย์) พึงให้อนุปสัมบันนั้น

นำมา เมื่อไม่มี ก็พึงให้เขานำมาแล้วรับเท่าที่พอรับได้. นี้ชื่อว่า สันโดษ
ในการกำหนด. การที่ภิกษุฉันโดยมนสิการอย่างนี้ว่า การฉันนี้บรรเทา
ความหิวได้ การออกไปจากภพจะมีได้ในเพราะการฉันนี้ ชื่อว่า สันโดษ
ในการบริโภค. ภิกษุไม่พึงเก็บสะสมไว้ฉัน. นี้ชื่อว่า สันโดษในการเว้น
จากการสะสม. ภิกษุไม่พึงเห็นแก่หน้า ตั้งอยู่ในสาราณิยธรรมแล้ว พึง
สละเถิด. นี้ชื่อว่า สันโดษในการสละ.
ก็ธุดงค์ 5 ข้อคือ ปิณฑปาติกังคะ สปทานจาริกังคะ เอกาสนิกังคะ
ปัตตปิณฑิกังคะ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ เกี่ยวเนื่องกับบิณฑบาต. กถาอย่าง
พิสดารของธุดงค์ทั้ง 5 ข้อนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ภิกษุผู้
บำเพ็ญ มหาอริยวงศ์ ข้อว่า การสันโดษในบิณฑบาต ย่อมรักษาธุดงค์
5 ข้อนี้ไว้ได้ ด้วยประการฉะนี้. ภิกษุเมื่อรักษาธุดงค์ 5 ข้อนี้ได้ ย่อม
เป็นผู้สันโดษตามมหาอริยวงศ์ ข้อว่า การสันโดษด้วยบิณฑบาต. บทว่า
วณฺ ณวาที เป็นต้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
ในบทว่า เสนาสเนน นี้ บัณฑิตพึงทราบ เสนาสนะ. เขตแห่ง
เสนาสนะ ความสันโดษในเสนาสนะ ธุดงค์ที่เกี่ยวกับเสนาสนะ.
บรรดา 4 ข้อนั้น ข้อว่า เสนาสนํ ความว่า เสนาสนะ มี 15 ชนิด
นี้ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน วิหาร เพิง ปราสาท ปราสาทโล้น ถ้ำ ที่เร้น
ป้อม เรือนยอดเดียว พุ่มไม้ไผ่ โคนต้นไม้ ก็หรือว่า ที่ที่สมควรแก่ภิกษุ.
ข้อว่า เขตของเสนาสนะ ความว่า เขตมี 6 คือ จากสงฆ์ จากคณะ
จากญาติ จากมิตร จากทรัพย์ของตน หรือเขตที่เป็นของบังสุกุล.
ข้อว่า สันโดษในเสนาสนะ ความว่า ในเสนาสนะ มีสันโดษ
15 อย่าง มีสันโดษในการตรึกเป็นต้น. สันโดษเหล่านั้น พึงทราบตาม

นัยที่กล่าวแล้วในบิณฑบาตนั่นแหละ.
ก็ธุดงค์ 5 ข้อคือ อารัญญิกังคะ รุกขมูลิกังคะ อัพโภกาสิกังคะ
โสสานิกังคะ ยถาสันถติกังคะ เกี่ยวเนื่องด้วยเสนาสนะ กถาอย่างพิสดาร
ของธุดงค์เหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. ภิกษุผู้บำเพ็ญมหา
อริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษในเสนาสนะ ย่อมชื่อว่ารักษาธุดงค์ 5 ข้อนี้
ด้วยประการฉะนี้. เมื่อรักษาธุดงค์ 5 ข้อนี้ได้ จัดว่าเป็นผู้สันโดษตามมหา
อริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษในเสนาสนะ
ก็คิลานปัจจัย รวมเข้าในบิณฑบาตนั่นแหละ. ในคิลานปัจจัยนั้น
ภิกษุพึงเป็นผู้สันโดษด้วยการสันโดษตามได้ สันโดษตามกำลัง และสันโดษ
ตามสมควรทีเดียว. ภิกษุ ( เมื่อสมาทาน ) เนสัชชิกังคธุดงค์ ชื่อว่า ย่อม
คบอริยวงค์ข้อว่า การยินดีในภาวนา. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ในเสนาสนะท่านกล่าวธุดงค์ไว้ 5 ข้อ ธุดงค์ 5 ข้อ
อาศัยอาหาร ข้อหนึ่งเกี่ยวเนื่องดับความเพียร และ
อีก 2 ข้อ อาศัยจีวร.

ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ กล่าวอริยวงศ์ข้อว่า การ
สันโดษในจีวรข้อที่หนึ่งเป็นเหมือนกับจะแบ่งขยายมหาปฐวี เป็นเหมือน
กับจะยังท้องน้ำให้เต็ม และเป็นเหมือนกับจะขยายอากาศให้กว้างขวาง
กล่าวอริยวงศ์ข้อว่า การสันโดษในบิณฑบาต ข้อที่ 2 เป็นเหมือนกับจะ
ยังพระจันทร์ให้ตั้งขึ้น และเป็นเหมือนกับจะยังพระอาทิตย์ให้โลดขึ้นมา
กล่าวอริยวงศ์ ข้อว่า การสันโดษในเสนาสนะข้อที่ 3 เป็นเหมือนกับจะ

ยกเขาสิเนรุขึ้น บัดนี้เพื่อจะกล่าวอริยวงศ์ ข้อว่า ความยินดีในภาวนา
ข้อที่ 4 ซึ่งประดับไปด้วยนัยหนึ่งพันจึงเริ่มเทศนาว่า ท่านผู้มีอายุ ก็ข้อ
อื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ยินดีในการละ ดังนี้.
ในข้อนั้น ความยินดี ชื่อว่า อาราโม อธิบายว่า ความยินดียิ่ง.
ภิกษุชื่อว่า ยินดีในการละ เพราะอรรถว่า มีความยินดีในการละ 5 อย่าง.
ภิกษุชื่อว่า ยินดีแล้วในการละเพราะอรรถว่า ยินดีแล้วในการละอย่างนี้ว่า
เมื่อละความพอใจในกามได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญเนกขัมมะย่อมยินดี เมื่อ
ละพยาบาทให้ย่อมยินดี ฯ ล ฯ เมื่อละกิเลสทั้งหมดได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
อรหัตตมรรค ย่อมยินดี. ภิกษุชื่อว่า ยินดีในภาวนา เพราะอรรถว่า
มีความยินดีในภาวนา ตามนัยที่กล่าวนั่นแล. ชื่อว่ายินดีแล้วในภาวนา
เพราะอรรถว่าเป็นผู้ยินดีแล้วในภาวนา. ก็บรรดาอริยวงศ์ 4 ข้อเหล่านี้
ด้วยอริยวงศ์ข้างต้น 3 ข้อแรก เป็นอันท่านกล่าวถึงวินัยปิฎกทั้งสิ้น ด้วย
อำนาจแห่งธุดงค์ 13 ข้อ และการสันโดษในปัจจัย 4. ด้วยอริยวงศ์ข้อว่า
การยินดีในภาวนา เป็นอันท่านกล่าวถึงปิฏก 2 ข้อที่เหลือ. ก็ภิกษุเมื่อ
กล่าวอริยวงศ์ข้อว่า ความยินดีในภาวนานี้ พึงกล่าวตามบาลีแห่งเนกขัมมะ
ในปฏิสัมภิทามรรค พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกาย พึง
กล่าวโดยบรรยายแห่งสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกาย ( และ ) พึงกล่าว
โดยบรรยายแห่งนิเทสในอภิธรรมเถิด.
ใน 4 ข้อนั้น ข้อว่า ปฏิสัมฺภิทามคฺเค เนกฺขมฺมปาลิยา ความว่า
ภิกษุพึงกล่าว ตามบาลีแห่งเนกขัมมะ ในปฏิสัมภิทามรรคอย่างนี้ว่า ภิกษุ
นั้น เมื่อเจริญเนกขัมมะ ย่อมยินดี เมื่อละกามฉันทะได้ ย่อมยินดี เมื่อ

เจริญความไม่พยาบาท ย่อมยินดี เมื่อละความพยาบาทได้ ย่อมยินดี เมื่อ
เจริญอาโลกสัญญา ย่อมยินดี เมื่อละถิ่นมิทธะได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
ความสงบ ย่อมยินดี เมื่อละอุทธัจจะได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญการกำหนด
ธรรม ย่อมยินดี เมื่อละวิจิกิจฉาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญญาณ ( ปัญญา )
ย่อมยินดี เมื่อละอวิชชาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญปราโมชย่อมยินดี เมื่อ
ละความไม่ยินดีได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญปฐมฌานย่อมยินดี เมื่อละนิวรณ์ 5
ได้ย่อมยินดี เมื่อเจริญทุติยฌาน ย่อมยินดี เมื่อละวิตกวิจารได้ ย่อมยินดี
เมื่อเจริญตติยฌานย่อมยินดี เมื่อละปีติได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญจตุตถฌาน
ย่อมยินดี เมื่อละสุขและทุกข์ได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญอากาสานัญจายตน-
สมาบัติ ย่อมยินดี เมื่อละรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ย่อมยินดี
เมื่อเจริญวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ฯ ล ฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ย่อมยินดี เมื่อละอากิญจัญญายตนสมาบัติได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนิจจา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละนิจจสัญญาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญทุกขา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสุขสัญญาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญอนัตตา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอัตตสัญญาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญนิพพิทา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละความพอใจได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิราคา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละราคะได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญนิโรธานุปัสสนา
ย่อมยินดี เมื่อละสมุทัยได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญปฏินิสสัคคานุปัสสนา ย่อม
ยินดี เมื่อละความยึดถือได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญขยานุปัสสนา ย่อมยินดี
เมื่อละฆนสัญญาได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญยานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละ
อายูหนะ ( การประมวลไว้ )ได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญวิปริณามานุปัสสนา
ย่อมยินดี เมื่อละธุวสัญญา ( ความสำคัญว่ายั่งยืน ) ได้ ย่อมยินดี เมื่อ

เจริญอนิมิตตานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละนิมิตได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
อัปปณิหิตานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละปณิธิ ย่อมยินดี เมื่อเจริญสุญญตา-
นุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอภินิเวสได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญอธิปัญญา
ธัมมวิปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสาราทานาภินิเวสได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมยินดี เมื่อละสัมโมหาภินิเวสได้ ย่อมยินดี เมื่อ
เจริญอาทีนวานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละอาลยาภินิเวส ย่อมยินดี เมื่อ
เจริญปฏิสังขาภินิเวส ย่อมยินดี เมื่อละอัปปฏิสังขะได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
วิวัฎฏานุปัสสนา ย่อมยินดี เมื่อละสังโยคาภินิเวสได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
โสดาปัตติมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับทิฏฐิได้ ย่อมยินดี
เมื่อเจริญสกทาคามิมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสอย่างหยาบเสียได้ ย่อม
ยินดี เมื่อเจริญอนาคามิมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสอย่างละเอียดได้
ย่อมยินดี เมื่อเจริญอรหัตตมรรค ย่อมยินดี เมื่อละกิเลสทั้งหมดได้
ย่อมยินดี ดังนี้.
ข้อว่า ทีฆนิกาเย ทสุตฺตรสุติตนฺตปริยาเยน กเถตพฺโพ ความว่า
พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งทสุตตรสูตรในทีฆนิกาย อย่างนี้ว่า ภิกษุเมื่อ
เจริญธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี เมื่อละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี ฯลฯ
เมื่อเจริญธรรมสิบ ย่อมยินดี เมื่อละธรรมได้ 10 ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อ
เจริญธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดีเป็นไฉน เมื่อเจริญกายคตาสติ อันเป็น
ธรรมที่สหรคตด้วยความยินดี ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อเจริญธรรมอย่างหนึ่งนี้
ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมยินดี เป็นไฉน เมื่อละอัสมิ-
มานะได้ ย่อมยินดี ภิกษุเมื่อละธรรมอย่างหนึ่งนี้ได้ ย่อมยินดี เมื่อเจริญ
ธรรม 2 อย่าง ย่อมยินดี เป็นไฉน ฯลฯ เมื่อเจริญธรรมสิบอย่าง ย่อมยินดี
เป็นไฉน เมื่อเจริญกสิณสิบ ย่อมยินดี เมื่อเจริญธรรมเหล่านี้ ย่อมยินดี

เมื่อละธรรมสิบเหล่าไหนได้ ย่อมยินดี เมื่อละมิจฉัตตะสิบได้ ย่อมยินดี
เมื่อละธรรมสิบเหล่านี้ได้ ย่อมยินดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดี
ในภาวนา อย่างนี้แล.
ข้อว่า มชฺฌิมนิกาเยน สติปฏฺฐานสุตฺตนฺตปริยาเย กเถตพฺโพ
ความว่า พึงกล่าวโดยบรรยายแห่งสติปัฏฐานสูตร ในมัชฌิมนิกายอย่างนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นหนทางเครื่องดำเนินไปอย่างเอก ฯลฯ เพียง
เพื่อความรู้ เพียงเพื่อเป็นที่อาศัยระลึก เธอไม่ติดอาศัยอยู่ และไม่ยึดถือ
อะไรในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุย่อมเป็นผู้ยินดีในภาวนา
เป็นผู้ยินดีแล้วในภาวนา เป็นผู้ยินดีในการละ เป็นผู้ยินดีแล้วในการละ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเมื่อกำลังไปก็รู้ว่า เรากำลังไป
ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุแม้พึงเหมือนผู้เห็นร่างกาย
ที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ฯลฯ เป็นของเปื่อยเน่า ผุพัง เธอย่อมนำเข้าไปเปรียบเทียบ
กับกายนี้นี่แหละว่า ร่างกายแม้นี้แล ก็มีธรรมอย่างนี้ มีภาวะอย่างนี้ ไม่ล่วง
พ้นภาวะอย่างนี้ ไปได้ ดังนี้ เธอย่อมเห็นกายในกายอันเป็นภายใน ด้วย
ประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ยินดีในภาวนาแม้อย่างนี้แล.
ข้อว่า อภิธมฺเม นิทฺเสนปริยาเยน ความว่า พึงกล่าวโดยบรรยาย
แห่งนิเทสในอภิธรรมอย่างนี้ว่า ภิกษุเมื่อเห็นสังขตธรรมแม้ทั้งปวง โดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นแผล ฝี ฯลฯ เป็นธรรม
มีความเศร้าหมอง ย่อมยินดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้แล ย่อมเป็น
ผู้ยินดีในภาวนา.
ข้อว่า เนว อตฺตานุกฺกํเสติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่ทำการยกตน
ขึ้นอย่างนี้ว่า เมื่อเราทำการงานในวิปัสสนาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น

อนัตตา ตลอด 60 หรือ 70 ปี ในวันนี้จะมีใครเหมือนเรา ดังนี้. ข้อว่า
น ปรํ วมฺเภติ ความว่า ภิกษุย่อมไม่ทำการข่มผู้อื่นอย่างนี้ว่า แม้เพียง
เหตุสักว่า วิปัสสนาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ไม่มี (แก่ภิกษุ
เหล่านี้ ) ทำไม ภิกษุเหล่านี้ จึงละทิ้งกรรมฐาน เที่ยวไป ดังนี้. คำที่เหลือ
มีนัยที่กล่าวแล้วนั่นเอง.
ข้อว่า ปธานานิ ได้แก่ ความเพียรขั้นสูงสุด. ข้อว่า สํวรปธานํ
ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้สำรวม อายตนะมีจักษุเป็นต้น.
ข้อว่า ปหาปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ละกาม
วิตกเป็นต้น. ข้อว่า ภาวนาปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
เจริญโพชฌงค์. ข้อว่า อนุรกฺขนาปธานํ ความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่
ภิกษุผู้ตามรักษาสมาธินิมิต. ในข้อว่า วิเวกนิสฺสิตํ เป็นต้น ความว่า แม้คำ
ทั้ง 3 คือ วิเวกวิราคะนิโรธ ก็เป็นชื่อของพระนิพพาน. จริงอยู่ พระนิพพาน
ชื่อว่า วิเวก เพราะสงัดจากอุปธิกิเลส ชื่อว่าวิราคะเพราะอรรถว่า กิเลสมี
ราคะเป็นมาถึงพระนิพพานนั้น ย่อมบำราศไป ชื่อว่า นิโรธ เพราะ
อรรถว่า ดับ เพราะเหตุนั้นในคำว่า วิเวกนิสฺสิตํ เป็นต้น จึงมีอธิบายว่า
อาศัยพระนิพพาน ด้วยอำนาจความเป็นอารมณ์ หรือด้วยอำนาจพึงบรรลุ.
ในคำว่า โวสฺสคฺคปริณามี นี้ ความว่า การสละลงมี 2 อย่าง คือ การ
สละลงคือการบริจาค การสละลงคือการแล่นไป 1. ใน 2 อย่างนั้น
วิปัสสนา ชื่อว่าการสละลงคือการบริจาค เพราะอรรถว่า ละกิเลสและ
ขันธ์ได้ด้วยองค์นั้น. มรรค ชื่อว่าการสละลงคือการแล่นไป เพราะอรรถ
ว่า แล่นไปสู่พระนิพพานโดยความเป็นอารมณ์. เพราะฉะนั้นในข้อว่า
โวสฺสคฺคปริณามี นี้จึงมีอธิบายอย่างนี้ว่า สติสัมโพชฌงค์ที่ภิกษุเจริญอยู่

ย่อมน้อมไปเพื่อความสละลง เธอย่อมบรรลุวิปัสสนาภาวนาและมรรค
ภาวนา ฉันใด เธอย่อมเจริญโวสสัคคะฉันนั้น ดังนี้. แม้ในบทที่เหลือ
ก็นัยนั้นเหมือนกัน. สมาธินิมิตอันเจริญ ท่านเรียกว่า ภทฺทกํ. สมาธิ
นั่นแหละ เป็นอันภิกษุบรรลุแล้ว ด้วยอำนาจอัฏฐิกสัญญาเป็นต้น. ข้อว่า
อนุรกฺขติ ความว่า เมื่อภิกษุชำระ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นธรรมฝ่าย
ข้าศึกย่อมรักษาสมาธิไว้ได้. ก็ในข้อนี้ท่านกล่าวสัญญาไว้ 5 ข้อ มีอัฏฐิก-
สัญญา เป็นต้น. ก็ในฐานะนี้ ท่านกล่าวอสุภะไว้ครบทั้ง 10 โดยพิสดาร.
ความพิสดารของอสุภเหล่านั้น ท่านกล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั่นแล.
ข้อว่า ธมฺเม ญาณํ ความว่า ญาณในสัจจธรรมสี่ และญาณ
ในนิโรฐธรรมในภายในสัจจสี่ด้วยอำนาจการแทงตลอดเป็นอันเดียวกัน.
เหมือนที่กล่าวไว้แล้ว. ถามว่า ในญาณ 2 นั้น ญาณในธรรมเป็นไฉน
ตอบว่า ญาณในมรรค 4 ผล 4. ข้อว่า อนฺวเย ญาณํ ความว่าญาณที่
เป็นไปตามญาณนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุเห็นสัจจะ 4 โดยประจักษ์ในบัดนี้ฉันใด
ถึงในอดีต ถึงในอนาคต ก็ฉันนั้น ขันธ์ 5 เหล่านี้นั่นเอง ชื่อว่า ทุกขสัจจะ
ตัณหานี้นั่นแหละ ชื่อว่าสมุทัยสัจจะ นิโรธนี้เทียว ชื่อว่านิโรธสัจจะ มรรคนี้
ทีเดียว ชื่อว่ามรรคสัจจะ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เธอย่อมนำนัย
ไปในอดีตและอนาคต ด้วยการรู้ การเห็น การบรรลุ การรู้ชัด การ
หยั่งเห็น ตามธรรมนี้. ข้อว่า ปริจฺเฉเท ญาณํ ความว่า ญาณในการ
กำหนดใจของคนพวกอื่น. เหมือนที่ท่านกล่าวไว้แล้ว. บัณฑิตพึงให้ข้อ
ความพิสดารว่า ในญาณนั้นญาณในการกำหนดใจเป็นไฉน ภิกษุใน
ศาสนานี้ กำหนดใจของสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ด้วยใจ ก็ย่อมรู้ได้ ดังนี้.
ก็ญาณที่เหลือเว้นญาณ 3 เหล่านี้ ชื่อว่าสัมมติญาณ. เหมือนดังท่าน

กล่าวไว้แล้ว. ในข้อนั้น สัมมติญาณเป็นไฉน ญาณที่เหลือ เว้นญาณ
ในธรรม เว้นญาณในการไปตาม เว้นญาณในการกำหนดใจเสียแล้ว ชื่อว่า
สัมมติญาณ ดังนี้. กรรมฐานในสัจจะ 4 ท่านกล่าวสรุปไว้สำหรับภิกษุรูป
หนึ่ง ซึ่งบรรลุอรหัตด้วยญาณ ในทุกขสัจจะเป็นต้น. บรรดาสัจจะ 8 นั้น
สัจจะ 2 ข้อเป็นวัฏฏะ อีก 2 ข้อเป็นวิวัฏฏะ. อภินิเวสะ (ความยึดมั่น)
ย่อมมีในวัฏฏะ แต่หามีในวิวัฏฏะไม่ ภิกษุเรียนพระปริยัติในสำนักอาจารย์
ชื่อว่า ย่อมทำการงานในสัจจะ 2. ภิกษุย่อมทำงานในสัจจะ 2 ข้อด้วย
อำนาจการฟังว่า ธรรมดาว่า นิโรธสัจจะเป็นของดี น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ธรรมดาว่า มรรคสัจจะ เป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ.
การแทงตลอดด้วยอำนาจการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงจำ
การใคร่ครวญ ในสัจจะ 2 ย่อมควร. การแทงตลอดด้วยอำนาจการฟังใน
สัจจะ 2 ย่อมควร. เธอย่อมแทงตลอด สัจจะ 3 ด้วยอำนาจกิจ . ย่อมแทง
ตลอดสัจจะ 1 ด้วยอำนาจความเป็นอารมณ์. สัจจะ 2 ข้อเป็นของลึกซึ้ง
เพราะเห็นได้ยาก. สัจจะ 2 ข้อ ที่ชื่อว่าเห็นได้ยากเพราะเป็นสภาพลึกซึ้ง.
ข้อว่า โสตาปตฺติยงฺคานิ ความว่า องค์แห่งการบรรลุกระแส.
อธิบายว่า เหตุแห่งการได้โสดาปัตติมรรค. ข้อว่า สปฺปุริสสํเสโว ความว่า
การเข้าไปคบหาสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. ข้อว่า สทฺธมฺมสฺสวนํ
ความว่า การฟังธรรมคือ พระไตรปิฏกอันเป็นที่สบาย. ข้อว่า โยนิโสมน-
สิกาโร
ความว่า การทำไว้ในใจด้วยอำนาจอนิจจลักษณะ เป็นต้น.
ข้อว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ความว่า ปฏิบัติ ข้อปฏิบัติอันมีในส่วน
เบื้องต้น อันเป็นธรรมไปตามโลกุตตรธรรม. ข้อว่า อเวจฺจปฺปสาเทน

ความว่า ด้วยศรัทธาอันมั่นคง. พระพุทธคุณว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้
เป็นต้น ท่านให้พิสดารไว้แล้วในวิสุทธิมรรค. หมวดสี่แห่งผล ธาตุ และ
อาหาร มีเนื้อความง่ายทีเดียว. อีกอย่างหนึ่งในข้อนี้ บัณฑิตพึงทราบความ
เป็นของหยาบและละเอียด ด้วยอำนาจความเป็นของหยาบและประณีต.
ข้อว่า วิญฺญาณฏฺฐิติโย ความว่า ที่ชื่อว่า วิญญาณฐิติ เพราะอรรถ
ว่า เป็นที่ตั้งของวิญญาณ. คำนี้ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยอำนาจเป็นที่ตั้งของ
อารมณ์. ข้อว่า รูปูปายํ ความว่า เป็นสภาพเข้าถึงรูป. จริงอยู่ อภิสังขาร.
วิญญาณอาศัยรูปขันธ์ ตั้งอยู่ในปัญจโวการภพ. คำนี้ท่านกล่าวหมายถึง
วิญญาณนั้น. ข้อว่า รูปารมฺมณํ ความว่า มีรูปขันธ์เป็นอารมณ์. ข้อว่า
รูปปฺปติฏฺฐํ ความว่า เป็นของตั้งอยู่เฉพาะแล้วในรูป. ข้อว่า นนฺทูปเสวนํ
ความว่า เป็นของอันความพอใจเข้าไปอาศัย เพราะสัมปยุตด้วยจิตที่สหรคต
ด้วยโลภะ. นอกนี้ เป็นของถูกส่วนสุดแห่งความประพฤติที่เคยชิน เข้าไป
อาศัย. ข้อว่า วุฑฺฒึ วิวุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชติ ความว่า ถึงความเจริญ
งอกงาม ไพบูลย์ ซึ่งเป็นไปอยู่อย่างนี้ 60 ปีบ้าง 70 ปีบ้าง. นัยแม้ในอุบาย
แห่งเวทนาเป็นต้น ก็นัยนี้. ก็ในจตุโวการภพ ท่านกล่าวอภิสังขารวิญญาณ
ไว้ด้วยบททั้ง 3 เหล่านี้. พึงทราบการถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์
ด้วยอำนาจความเป็นไปตราบเท่าชั่วอายุของวิญญาณนั้น. ท่านไม่กล่าวว่า
อุบายแห่งวิญญาณ ดังนี้ เพราะมาแล้วด้วยเทศนา ตามหมวด 4. ก็เมื่อ
กล่าวไปอย่างนี้ ก็จะเป็นการฟั่นเฝือหนักขึ้นว่า ในที่นี้ กัมมวิญญาณเป็น
ไฉน วิบากวิญญาณเป็นไฉน แม้เพราะเหตุนั้น จึงไม่กล่าวไว้. การถึงอคติ
ท่านให้พิสดารไว้แล้วทีเดียว.

ข้อว่า จีวรเหตุ ความว่า เกิดขึ้นเพราะมีจีวรเป็นเหตุว่า เราจัก
ได้จีวรที่ชอบใจในที่ไหน. อิติศัพท์ในข้อว่า อิติภวาภวเหตุ นี้ เป็นนิบาต
ลงในการชี้แจง. อธิบายว่า เหตุมีจีวรเป็นต้นเป็นฉันใด เหตุมีภพและ
อภพเป็นต้น (เหตุที่ประณีตและประณีตกว่า) ก็เป็นฉันนั้น. ในข้อว่า
ภวาภโว นี้ท่านประสงค์เอาน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้นที่ประณีต
และประณีตกว่า. พึงทราบว่า ก็อริยวงศ์ 4 ท่านแสดงไว้ตามลำดับทีเดียว
เพื่อต้องการละตัณหา และอุปาทาน 4 เหล่านี้ หมวด 4 แห่งปฏิปทา
ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั้นแล.
ในการอดทนไม่ได้เป็นต้น มีวิเคราะห์ดังต่อไปนี้. ภิกษุที่ชื่อว่า
อักขมา เพราะอรรถว่า อดทนความหนาวเป็นต้นไม่ได้ ในเวลาทำความ
เพียร. ชื่อว่า ขมา เพราะอรรถว่า ทนได้. การฝึกอินทรีย์ชื่อว่า ทมา.
ความสงบวิตก โดยนัยเป็นต้นว่า อดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้นไม่ได้ชื่อ สมา.
ข้อว่า ธมฺมปทานิ ความว่า ส่วนแห่งธรรม. ความไม่เพ่งเล็ง
ชื่อว่า บทแห่งธรรม อีกอย่างหนึ่ง ความไม่โลภโดยมีความไม่โลภเป็นใหญ่
หรือ การบรรลุฌานวิปัสสนามรรคผลและนิพพาน ก็ชื่อว่า บทแห่งธรรม
ความไม่พยาบาท ชื่อว่า บทแห่งธรรม หรือ ความไม่โกรธโดยมีเมตตา
เป็นหลัก หรือ การบรรลุฌานเป็นต้น ชื่อว่า บทแห่งธรรม. สัมมาสติ
ชื่อว่าบทแห่งธรรม อีกอย่างหนึ่ง การตั้งสติมั่น โดยมีสติเป็นหลัก หรือ
การบรรลุฌานเป็นต้น ชื่อว่าบทแห่งธรรม. สัมมาสมาธิ ชื่อว่า บทแห่ง
ธรรม อีกอย่างหนึ่ง สมาบัติด้วยอำนาจสมาบัติ 8 หรือการบรรลุฌาน
วิปัสสนามรรคผล และนิพพาน ชื่อว่า บทแห่งธรรม. การบรรลุฌาน

เป็นต้น ด้วยอำนาจอสุภะ 10 หรือความไม่เพ่งเล็ง ชื่อว่า บทแห่งธรรม
บทแห่งธรรมที่บรรลุด้วยอำนาจพรหมวิหาร 4 ( หรือ ) ความไม่พยาบาท
ชื่อว่า บทแห่งธรรม. บทแห่งธรรมที่บรรลุด้วยอำนาจ อนุสสติ 10 และ
อาหารปฏิกูลสัญญา ( หรือ ) สัมมาสติ ชื่อว่าบทแห่งธรรม. บทแห่งธรรม
ที่บรรลุด้วยอำนาจกสิณ 10 และอานาปานสติ (หรือ) สัมมาสมาธิ
ชื่อว่าบทแห่งธรรมดังนี้แล.
ในการสมาทานธรรมทั้งหลาย มีเนื้อความดังต่อไปนี้. การสมา-
ทานข้อแรก เป็นปฏิปทาของอเจลกะ. การสมาทานข้อที่ 2 เป็นการ
ประพฤติพรหมจรรย์อย่างบริสุทธิ์ของบุคคลผู้มีกิเลสกล้า ไม่สามารถจะ
คว้าเอาพระอรหัตไว้ได้ ร้องไห้น้ำตาเปียกหน้าอยู่. การสมาทานข้อที่ 3
เป็นการสมาทานที่ตกไปในกามทั้งหลาย. การสมาทานข้อที่ 4 เป็นการ
ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของบุคคลผู้แม้ไม่ได้ปัจจัยสี่ แต่ก็พรั่งพร้อม
ไปด้วยความสุข ตามอำนาจฌานและวิปัสสนา.
ในข้อว่า ธมฺมกฺขนฺธา นี้ ได้แก่ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในคุณ คือตั้งอยู่
ในขันธ์. ข้อว่า ลีลกฺขนฺโธ ได้แก่ คุณของศีล. ก็ผลของศีลท่านประสงค์
เอาในข้อนี้. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. ผลนั่นเองท่านกล่าวไว้ใน
ฐานแม้ทั้ง 4 ด้วยประการฉะนี้.
ข้อว่า พลานิ ความว่า ที่ชื่อว่า กำลังทั้งหลาย เพราะอรรถว่า
เป็นเครื่องช่วยเหลือ และเพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว. บัณฑิตพึงทราบความ
ที่กำลังเหล่านั้นเป็นของไม่หวั่นไหว ด้วยธรรมมีโกสัชชะ เป็นต้น ซึ่งเป็น

ข้าศึกกัน. กำลังแม้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระท่านกล่าวไว้แล้ว
ด้วยอำนาจสมถะ วิปัสสนา และมรรค.
อธิศัพท์ในข้อว่า อธิฏฺฐานานิ นี้เป็นเพียงอุปสรรค. แต่ว่าโดย
ความหมายแล้ว ก็มีความหมายว่า เป็นเหตุตั้งอยู่ เป็นที่ตั้งอยู่ของคุณธรรม
หรือว่าเป็นฐานะ คือความตั้งใจมั่นของคนที่สร้างสมคุณนั้นๆ. การตั้งใจมั่น
คือปัญญา ชื่อว่า ปัญญาธิฏฐาน. ก็ในที่นี้ พระมูสิยาภยเถระ กล่าวไว้ว่า
บัณฑิตพึงทราบว่า ปัญญาในมรรคและผล ท่านกล่าวไว้ด้วยอธิฏฐาน
ข้อที่หนึ่ง วาจาสัตย์ กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สอง การบริจาคอามิส
กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สาม การสงบกิเลส กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สี่
อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาในผลเริ่มต้นแต่กัมมัสสกตาปัญญา หรือวิปัสสนา
ปัญญา กล่าวไว้ด้วยอธิฐานข้อที่หนึ่ง พระนิพพานซึ่งเป็นปรมัตถสัจจะ
เริ่มต้นแต่วาจาสัตย์ กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สอง การสละกิเลสด้วย
อรหัตตมรรค เริ่มต้นแต่การบริจาคอามิส กล่าวไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สาม
การสงบกิเลสด้วยอรหัตมรรค เริ่มต้นแต่การข่มกิเลสได้ด้วยสมาบัติ กล่าว
ไว้ด้วยอธิฏฐานข้อที่สี่ อีกอย่างหนึ่งปัญญาในอรหัตผล กล่าวไว้ด้วย
ปัญญาธิฏฐานข้อหนึ่ง ปรมัตถสัจจะ กล่าวไว้ด้วยปัญญาธิฏฐานข้อที่เหลือ
อีกอย่างหนึ่ง ปรมัตถสัจจะ กล่าวไว้ด้วยสัจจาธิฏฐานข้อหนึ่ง ปัญญา
ในอรหัตผล กล่าวไว้ด้วยปัญญาธิฏฐานที่เหลือ ดังนี้. การพยากรณ์
ปัญหา ท่านให้พิสดารแล้วในกถามหานิเทสนั้นแหละ.
ข้อว่า กณฺหํ แปลว่า อกุศลกรรมบถสิบ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดำ.
ข้อว่า กณฺหวิปากํ ได้แก่ ผลของอกุศลกรรม เพราะให้สัตว์ผู้ทำเกิดใน

อุบาย. ข้อว่า สุกฺกํ ได้แก่ กุศลกรรมบถสิบ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายขาว. ข้อว่า
สุกฺกวิปากํ ได้แก่ ผลของกุศลกรรม เพราะให้สัตว์ผู้ทำเกิดในสวรรค์.
ข้อว่า กณฺหสุกฺกํ ได้แก่ หรรมที่ระคนกัน. ข้อว่า กณฺหสุกฺกวิปากํ
ได้แก่ ผลที่เป็นสุขและเป็นทุกข์. จริงอยู่ บุคคลที่ทำกรรมอันเจือกันไปเกิด
ในที่แห่งช้างมงคลเป็นต้น ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เพราะอกุศล เสวยสุข
ในปัจจุบัน เพราะกุศล. บุคคลผู้เกิดแม้ในราชตระกูลเพราะกุศล ย่อม
เสวยทุกข์ในปัจจุบันด้วยอกุศล. ข้อว่า ไม่ดำไม่ขาว ความว่า ท่าน
ประสงค์เอา ญาณในมรรค. อันทำความสิ้นกรรม. จริงอยู่ กรรมนั้น
ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดำ ( อกุศล ) ก็พึงให้ผลของกรรมฝ่ายดำ ถ้าเป็นกรรม
ฝ่ายขาว ( กุศล ) ก็พึงให้ผลของกรรมฝ่ายขาว. กรรมที่ชื่อว่า ไม่ดำไม่ขาว
เพราะไม่ให้ผลทั้งสอง เพราะมีผลไม่ดำไม่ขาว ในข้อนี้ มีอธิบายดังว่า
มานี้.
ข้อว่า สจฺฉิกรณียานิ ความว่า พึงทำให้แจ้ง โดยทำให้ประจักษ์
และโดยการได้เฉพาะ. บทว่า จกฺขุนา ได้แก่ ทิพยจักษุ. ข้อว่า กาเยน
ได้แก่ สหชาตนามกาย. ข้อว่า ปญฺญาย ได้แก่ ญาณในอรหัตผล.
ในบทว่า โอฆะ มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถว่า กด
คือทำสัตว์ให้จมลงในวัฏฏะ. บรรดาโอฆะนั้น ความกำหนัดที่เกี่ยวเนื่อง
กับกามคุณ 5 ชื่อว่า โอฆะ คือ กาม. ความกำหนัดด้วยความพอใจ
ในรูปภพ และอรูปภพ ชื่อว่า โอฆะ คือภพ. ความติดใจในญาน และ
ความกำหนัดที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ ก็เหมือนกัน. ทิฏฐิ 62 ชื่อว่า
โอฆะ คือ ทิฏฐิ. ที่ชื่อว่า โยคะ เพราะอรรถว่า ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ.
โยคะ เหล่านั้นพึงทราบว่าเหมือนโอฆะ. ที่ชื่อว่า วิสังโยค เพราะอรรถว่า

ไม่ประกอบสัตว์ไว้. ในวิสังโยคนั้น ยสุภฌาน ชื่อว่า การไม่ประกอบไว้ด้วย
กามโยคะ อนาคามิมรรค ที่บุคคลบรรลุโดยทำอสุภฌานนั้นให้เป็นบาท
ชื่อว่า การไม่ประกอบด้วยกามโยคะ โดยส่วนเดียวทีเดียว. อรหัตตมรรค
ชื่อว่า การไม่ประกอบด้วยภวโยคะ. โสดาปัตติมรรค ชื่อว่า การไม่ประกอบ
ในทิฏฐิโยคะ. อรหัตมรรค ชื่อว่า การไม่ประกอบในอวิชชาโยคะ.
กิเลสที่ชื่อว่า คันถา ด้วยสามารถผูก ( สัตว์) ไว้. ที่ชื่อว่า
กายคันถะ เพราะอรรถว่า ผูก คือ พัน ได้แก่ ร้อยรัด นามกาย และ
รูปกายไว้ในวัฏฏะ. ข้อว่า อิทํสจฺจาภินิเวโส ความว่า อภินิเวส คือ
ทิฏฐิที่เป็นไปอย่างนี้ว่า นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น เปล่า ดังนี้.
ข้อว่า อุปาทานานิ ได้แก่ การยึดมั่นถือมั่น. ความกำหนัดชื่อว่า
กาม. กามนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า กามุปาทาน เพราะอรรถว่า ถือมั่น
ด้วยอรรถว่า ยึดไว้. มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า ทิฏฐิ. ทิฏฐิแม้นั้น ชื่อว่า
ทิฏฐุปาทาน เพราะอรรถว่า ถือมั่น ด้วยอรรถว่า ยึดถือไว้. การยึดถือ
ศีลพรตอย่างนี้ว่า ความหมดจดมีได้ด้วยศีลพรตนี้ ชื่อว่า การยึดมั่นศีลพรต.
ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้เรียกว่า ตน และ
เป็นเหตุแห่งการยึดมั่น.
ข้อว่า โยนิโย แปลว่า ส่วนทั้งหลาย. เหล่าสัตว์ที่ชื่อว่า อัณฑชะ
เพราะอรรถว่า เกิดในไข่. ชื่อว่า ชลาพุชะ เพราะอรรถว่า เกิดในครรภ์.
ชื่อว่า สังเสทชะ เพราะอรรถว่า เกิดในเหงื่อไคล. คำนี้เป็นชื่อของสัตว์
ที่เกิดในที่นอน และในที่โสโครก มีปลาเน่า เป็นต้น. ที่ชื่อว่า โอปปาติกะ

เพราะอรรถว่า เป็นเหมือนมาเกิดขึ้นโดยฉับพลัน. ในข้อนั้น นี้เป็นความ
แตกต่างกันระหว่าง สัตว์เกิดในเหงื่อไคล กับสัตว์ที่เกิดผุดขึ้นในจำพวก
เทวดาและมนุษย์. สัตว์จำพวกสังเสทชะ เกิดเป็นตัวอ่อนเล็กๆ. สัตว์จำพวก
โอปปาติกะ เกิดเป็นตัวเท่ากับคนอายุ 16 ปี. จริงอยู่ ในหมู่มนุษย์
และภุมมเทวดา ย่อมหากำเนิดสี่ เหล่านี้ได้ครบ. ในจำพวก ครุฑและนาค
เป็นต้น ซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็เหมือนกัน. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัส
ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาครุฑ และนาคนั้น พวกครุฑซึ่ง
เป็นสัตว์ในไข่ ย่อมสังหารพวกนาค ซึ่งเป็นสัตว์เกิดในไข่ด้วยกัน
แต่หาสังหารสัตว์จำพวกชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ ไม่.

เทวดาชั้นสูง ๆ ขึ้นไปตั้งแต่ ชั้นจาตุมมหาราชิกา จัดเป็นจำพวกโอปปา-
ติกะทั้งนั้น. สัตว์นรกก็เช่นกัน. ในจำพวกเปรตก็หากำเนิดได้ครบทั้ง 4.
การก้าวละสู่ครรภ์ ท่านกล่าวไว้แล้วในสัมปสาทนียสูตร นั่นแล.
ในการกลับได้อัตภาพ สัตว์จำพวกที่หนึ่งพึงทราบด้วยอำนาจการ
ขวนขวายในการเล่น จำพวกที่สอง พึงทราบด้วยอำนาจสัตว์ในภายใน
เป็นต้น ซึ่งถูกสัตว์ภายในเป็นต้นทำลาย จำพวกที่สาม พึ่งทราบด้วยอำนาจ
การประทุษร้ายทางใจ จำพวกที่สี่ พึงทราบด้วยอำนาจเทวดาที่เหลือชั้นสูง
ขึ้นไปเริ่มตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกา. จริงอยู่ เทวดาเหล่านั้น ย่อมไม่ตาย
ด้วยความจงใจของตนเอง ทั้งไม่ตายด้วยความจงใจของสัตว์อื่น.
ในข้อว่า ทกฺขณาวิสุทฺธิโย มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่า ทักษิณาวิสุทธิ
เพราะอรรถว่า เป็นเหตุ ให้ทักษิณา กล่าวคือ ทาน หมดจดมีผลมาก.
ข้อว่า ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต ความว่า ในทักษิณาใด

ทายกเป็นคนมีศีล ถวายไทยธรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรม แต่ปฏิคคาหก (ผู้รับ)
เป็นคนทุศีล ทักษิณานี้เป็นเหมือนทักษิณา ของพระเวสสันดรมหาราช.
ข้อว่า ปฏิคฺคาหกโต วิสุชฺฌติ โน ทายกโต ความว่า ในทักษิณาใด
ปฏิคคาหก เป็นคนมีศีล แต่ทายกเป็นคนเสียศีล ถวายไทยธรรมที่เกิดขึ้น
โดยไม่เป็นธรรม ทักษิณานี้เป็นเหมือนทักษิณาของคนฆ่าโจร. ข้อว่า
เนว ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต ความว่า ในทักษิณาใด
ทั้งสองฝ่าย เป็นคนทุศีล ถึงไทยธรรมก็เกิดโดยไม่เป็นธรรม. จำพวกที่ 4
พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้าม. ข้อว่า สงฺคหวตฺถูนิ ความว่า เหตุแห่ง
การสงเคราะห์. การสงเคราะห์เหล่านั้น ท่านจำแนกไว้แล้วในหนหลัง
นั้นแล.
ข้อว่า อนริยโวหารา ความว่า โวหารของบุคคลผู้มิใช่อริยะ คือ
ของตนลามก. ข้อว่า อริยโวหารา ความว่า โวหารของพระอริยะ คือ
สัตบุรุษ. ข้อว่า ทิฏฺฐวาทิตา ความว่า ความเป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้ว่า
เราเห็นมา เป็นต้น ก็ในข้อนี้ พึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจเจตนาเป็นเหตุ
ให้ถ้อยคำนั้นๆ ตั้งขึ้น.
ในจำพวกชนที่มีตปะเป็นของตน เป็นต้น มีอธิบายดังนี้. จำพวก
ที่หนึ่ง ได้แก่ อเจลกะ. จำพวกที่สองได้แก่ บรรดาคนภายในเป็นต้น
คนใดคนหนึ่ง. จำพวกที่สาม ได้แก่คนบูชายัญ. จำพวกที่สี่ ได้แก่ คน
ผู้ปฏิบัติชอบในศาสนา. ในจำพวกชนผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตนเป็นต้น
มีอธิบายดังนี้. จำพวกที่หนึ่ง ได้แก่ คนที่ตนเองเพรียบพร้อมด้วยคุณ
มีศีลเป็นต้น แต่ไม่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือนท่าน

พระวักกลิเถระฉะนั้น. จำพวกที่สอง ได้แก่ คนที่ตนเองไม่สมบูรณ์ด้วย
คุณ มีศีลเป็นต้น แต่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือน
ท่านพระอุปนันทะ ฉะนั้น. จำพวกที่สามได้แก่ คนที่ตนเองก็ไม่สมบูรณ์
ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น และไม่ชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบ
เหมือนพระเทวทัตฉะนั้น. จำพวกที่สี่ได้แก่บุคคลที่ตนเองก็สมบูรณ์ด้วย
คุณมีศีลเป็นต้น และทิ้งชักชวนคนอื่นในคุณมีศีลเป็นต้น เปรียบเหมือน
พระมหากัสสปฉะนั้น.
ในบุคคลที่ชื่อว่า มืด เป็นต้น มีอธิบายดังนี้. ข้อว่า ตโม ได้แก่
คนที่มืดสนิท. ข้อว่า ตมปรายโน ความว่า คนที่ชื่อว่า ตมปรายโน
เพราะอรรถว่า มีความมืดนั้นแล เป็นทางดำเนินไป คือไปในเบื้องหน้า
ในทุก ๆ บทพึงทราบเนื้อความอย่างนี้. ก็ในคนสี่จำพวกนี้ จำพวกที่หนึ่ง
เกิดในอัตตภาพที่เลว มีการเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง มีตระกูลคนจัณฑาล
เป็นต้น ซึ่งเป็นตระกูลต่ำ ทำทุจริต 3 ให้บริบูรณ์. จำพวกที่สองก็เป็น
คนอย่างนั้น แต่บำเพ็ญสุจริต 3 ให้บริบูรณ์. จำพวกที่ 3 บังเกิดใน
อัตภาพที่สมบูรณ์ มีข้าวและน้ำมาก มีตระกูลกษัตริย์เป็นต้น ซึ่งเป็น
ตระกูลอันโอฬาร แต่ทำทุจริต 3 ให้บริบูรณ์. จำพวกที่ 4 ก็เป็นอย่างนั้น
เหมือนกัน แต่บำเพ็ญสุจริต 3 ให้บริบูรณ์.
ข้อว่า สมณเมจโล ความว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว. อักษร เป็น
เพียงบทสนธิ. สมณะผู้ไม่หวั่นไหวนั้น พึงทราบ ( ว่า ) ได้แก่พระ-
โสดาบัน. จริงอยู่ พระโสดาบัน ชื่อว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว เพราะอรรถว่า

เป็นผู้ไม่หวั่นไหว ด้วยการกล่าวร้ายของคนอื่น เหมือนเสาเขื่อนไม่
หวั่นไหวเพราะลมทั้ง 4 ฉะนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธาอันไม่คลอน
แคลน. สมจริงตามคำที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ความพิสดารว่า ก็บุคคลคนไหน
ชื่อว่า สมณะผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลบางคนในโลกนี้ ( ที่ชื่อว่าสมณะผู้ไม่
หวั่นไหว ) เพราะสิ้นสังโยชน์ 3. ส่วนพระสกทาคามี ชื่อว่า สมณะ
ดอกปทุม เพราะอรรถว่า มีราคะ. โทสะ และโมหะ เบาบาง. เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็บุคคลคนไหนชื่อว่า สมณะดอกปทุม บุคคล
บางตนในโลกนี้ มาสู่โลกนี้ ครั้งเดียวเท่านั้น ย่อมทำความสิ้นทุกข์ได้
บุคคลนี้ท่านเรียกว่า สมณะดอกปทุม. พระอนาคามี ชื่อว่า สมณะดอก
บุณฑริก เพราะอรรถว่า จักตรัสรู้ ( บาน ) พลันทีเดียว เพราะไม่มีราคะ
และโทสะ. เพระเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า บุคคลคนไหน ชื่อว่า สมณะ
ดอกบุณฑริก บุคคลบางคนในโลกนี้ ( ละ ) สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ฯ ลฯ
บุคคลนี้ท่านเรียกว่า สมณะดอกบุณฑริก. ส่วนพระอรหันต์ ชื่อว่า สมณะ
สุขุมาล ( สมณะผู้ละเอียดอ่อน ) ในบรรดาสมณะ ( ด้วยกัน ) เพราะ
ไม่มีกิเลสทุกอย่างที่ทำให้กระด้าง. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็ใน
บรรดาสมณะบุคคลคนไหน ชื่อว่า สมณะสุขุมาละ บุคคลบางคนในโลกนี้
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯลฯ สำเร็จอยู่ บุคคลนี้ท่านเรียก สมณสุขุมาละ
ในบรรดาพระสมณะทั้งหลาย. คำว่า อิเม โข อาวุโส เป็นต้น บัณฑิต
พึงประกอบเข้าด้วยกัน ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. พระเถระเมื่อกล่าว
(แก้) ปัญหาสองร้อยข้อด้วยสามารถแห่งจตุกะห้าสิบถ้วน ด้วยประการฉะนี้
ก็ชื่อว่า แสดงแล้วซึ่งสามัคคีรส ดังนี้แล.
ืืื จบหมวด 4

ว่าด้วยธรรมหมวด 5



พระเถระครั้นแสดงสามัคคีรสด้วยอำนาจหมวด ด้วยประการฉะนี้
แล้ว บัดนี้หวังจะแสดงด้วยอำนาจหมวด 5 จึงเริ่มเทศนาอีก. ในหมวด 5
นั้น พึงทราบอธิบายดังนี้. บรรดาขันธ์ 5 รูปขันธ์ เป็นโลกิยะ. ขันธ์
ที่เหลือ เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ. อุปทานขันธ์ เป็นโลกิยะอย่างเดียว.
ก็กถาว่าด้วยขันธ์ ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารแล้ว ในวิสุทฐิมรรค. กามคุณ
ทั้งหลาย ท่านให้พิสดารแล้วในหนหลัง. ที่ชื่อว่า คติ เพราะอรรถว่าสัตว์
พึงดำเนินไป เพราะกรรมที่ทำดี และกรรมที่ทำไม่ดีเป็นต้น. ข้อว่า นิรโย
แปลว่า หมดความยินดี. ขันธ์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้พร้อมกับโอกาส (ที่อยู่)
ร่วมกัน. ขันธ์ที่เกิดขึ้นในที่ 3 แห่ง นอกจากนี้ ท่านกล่าวแล้ว. แม้โอกาส
ท่านก็กล่าวไว้แล้วในขันธ์ที่ 4.
ความตระหนี่ในอาวาส ชื่อว่า อาวาสมัจฉริยะ. ภิกษุผู้ประกอบ
ด้วยอาวาสมัจฉริยะนั้น เห็นอาคันตุกะแล้ว กล่าวคำเป็นต้นว่า ในอาวาส
หลังนี้เขาเก็บบริขารของเจดีย์ หรือของสงฆ์ไว้ ย่อมกันอาวาสแม้ที่เป็นของ
สงฆ์. เธอทำกาละแล้ว ย่อมไปเกิดเป็นเปรต หรืองูเหลือม. ความตระหนี่
ในตระกูลชื่อว่า กุลมัจฉริยะ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความตระหนี่ในตระกูล
นั้น ย่อมกันภิกษุพวกอื่นจะเข้าไปในตระกูลอุปัฏฐากของตน ด้วยเหตุนั้น ๆ.
ความตระหนี่ในลาภ ชื่อว่า ลาภมัจฉริยะ. ภิกษุผู้ประกอบด้วยความตระหนี่
ในลาภนั้น ตระหนี่ลาภแม้เป็นของสงฆ์ กระทำโดยประการที่ภิกษุพวกอื่น
จะไม่ได้. ความตระหนี่ในวรรณะ ชื่อว่า วรรณมัจฉริยะ. ก็ในคำว่า
วณฺโณ นี้ บัณฑิตพึงทราบ ทั้งสรีรวรรณะ ทั้งคุณวรรณะ. ความตระหนี่
ในปริยัติธรรม ชื่อว่า ธรรมมัจฉริยะ. ภิกษุผู้ประกอบด้วยความตระหนี่
ในปริยัติธรรมนั้น ย่อมไม่ให้ ( ปริยัติธรรม ) แก่ภิกษุอื่นด้วยคิดเสียว่า